วันพฤหัสบดีที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

เจ็บป่วยฉุกเฉิน 3 กองทุน



การบูรณาการร่วมกันของ 3 กองทุน คือ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนประกันสังคม และกองทุนสวัสดิการข้าราชการ เพื่อให้บริการผู้ป่วยฉุกเฉินสำหรับประชาชนทุกสิทธิ ไม่ต้องมีการถามสิทธิ สามารถเข้ารับการรักษาได้ทุกที่ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.นี้ จากนั้นให้หน่วยบริการ หรือโรงพยาบาลทำเรื่องเบิกจ่ายไปยังสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)  ซึ่งทำหน้าที่เป็นหน่วยงานเบิกจ่ายกลาง หรือ เคลียริ่งเฮาส์” (Clearing House)  ก่อนที่ สปสช.จะเรียกเก็บเงินจากแต่ละกองทุนต่อไป


นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. บอกว่า  การบูรณาการ 3 กองทุนเพื่อการให้บริการ “เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ทั่วถึงทุกคน” กลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้ป่วยฉุกเฉินระดับวิกฤติและระดับเร่งด่วน จะต้องรับผู้ป่วยไว้จนผู้ป่วยอาการทุเลาสามารถส่งกลับบ้านหรือส่งต่อ ส่งกลับสู่โรงพยาบาลในระบบต้นสังกัดได้ ซึ่งการดำเนินการนี้จะเป็นการแก้ไขปัญหาสำหรับผู้ป่วยฉุกเฉินของทั้ง 3 กองทุน ที่เดิมมีปัญหาในการเข้ารับบริการฉุกเฉินในโรงพยาบาลที่อยู่นอกเครือข่าย ทำให้ต้องสำรองเงินจ่ายไปก่อน และอาจจะถูกบ่ายเบี่ยงการรักษาพยาบาล รวมถึงเสียโอกาสจากขั้นตอนในการตรวจสอบสิทธิ โดยเฉพาะต้องการแก้ปัญหาผู้ป่วยฉุกเฉินระดับวิกฤติและเร่งด่วนที่ต้องได้รับการรักษาโดยเร็ว แต่ต้องเสียโอกาสจากการตรวจสอบสิทธิ และโรงพยาบาลไม่มั่นใจว่าจะได้รับเงินค่ารักษา แนวทางใหม่ที่ดำเนินการนี้ จะปรับให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งจะทำให้ทุกโรงพยาบาลไม่ต้องถามสิทธิการรักษาพยาบาลจากผู้ป่วย อีกทั้งผู้ป่วยไม่ต้องสำรองจ่ายไปก่อน

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ ผอ.สำนักบริหารการชดเชยค่าบริการ สปสช. กล่าวว่า  “นิยามผู้ป่วยฉุกเฉิน” หมายถึง ผู้ป่วยที่เป็นโรค ได้รับบาดเจ็บ หรือมีอาการบ่งชี้ว่าจะเป็นอาการที่คุกคามต่อการทำงานของอวัยวะสำคัญ ได้แก่ หัวใจ สมอง ทางเดินหายใจ ต้องดูแลติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะอาจจะทำให้เสียชีวิตได้ทันที

ยกตัวอย่าง เช่น หัวใจหยุดเต้น หอบหืดขั้นรุนแรง มีอาการเขียวคล้ำของปากและเล็บมือ หมดสติ ไม่รู้สึกตัว สิ่งแปลกปลอมอุดกั้นหลอดลมทั้งหมด อุบัติเหตุรุนแรงบริเวณใบหน้าและลำคอ มีเลือดออกมาก ภาวะช็อกจากการเสียเลือด หรือขาดน้ำอย่างรุนแรง แขน ขา อ่อนแรงพูดไม่ชัด ชักตลอดเวลาหรือชักจนตัวเขียว มีไข้สูงกว่า 40 องศาเซลเซียส ถูกสารพิษ สัตว์มีพิษกัด หรือได้รับยามากเกินขนาด ถูกสุนัขกัดบริเวณใบหน้าและลำคอ

อาการฉุกเฉินนอกเหนือจากนี้ หากไม่แน่ใจโปรดโทรฯ สายด่วน 1669 เพื่อขอรับคำปรึกษาและบริการช่วยเหลือต่อไป

“การเจ็บป่วยฉุกเฉิน” หมายถึง การได้รับอุบัติเหตุหรือมีอาการเจ็บป่วยกะทันทัน ซึ่งเป็นภยันตรายต่อการดำรงชีวิตหรือการทำงานของอวัยวะสำคัญ จำเป็นต้องได้รับการประเมิน การจัดการและบำบัดรักษาอย่างทันท่วงทีเพื่อป้องกันการเสียชีวิต หรือการรุนแรงขึ้นของการบาดเจ็บ หรืออาการเจ็บป่วยนั้น ทั้งนี้หน่วยปฏิบัติการ สถานพยาบาลและผู้ปฏิบัติการฉุกเฉินได้มีหลักเกณฑ์การประเมิน เพื่อคัดแยกระดับความรุนแรงของการเจ็บป่วยฉุกเฉิน

“ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ” ได้แก่ บุคคลซึ่งได้รับบาดเจ็บหรือมีอาการป่วยกะทันหันซึ่งมีภาวะคุกคามต่อชีวิต ซึ่งหากไม่ได้รับปฏิบัติการแพทย์ทันทีเพื่อแก้ไขระบบการหายใจ ระบบไหลเวียนเลือด หรือระบบประสาทแล้ว ผู้ป่วยจะมีโอกาสเสียชีวิตได้สูง หรือทำให้การบาดเจ็บหรืออาการป่วยของผู้ป่วยฉุกเฉินนั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้อย่างฉับไว หรือกล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่า ฉุกเฉินวิกฤติ เป็นภาวะที่คุกคามต่อชีวิตต้องให้การช่วยเหลืออย่างรีบด่วน ผู้ป่วยต้องได้รับการตรวจรักษาทันที มิฉะนั้นผู้ป่วยจะเสียชีวิตหรือพิการอย่างถาวรในเวลาไม่กี่นาที ซึ่งผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติที่ต้องได้รับการวินิจฉัย และให้การตรวจรักษาทันที กลุ่มนี้โดยใช้สัญลักษณ์ “สีแดง” ตัวอย่าง เช่น 1. ภาวะหัวใจหยุดเต้น 2. ภาวะหยุดหายใจ 3. ภาวะช็อกจากการเสียเลือดรุนแรง 4. ชักตลอดเวลาหรือชักจนตัวเขียว 5. อาการซึม หมดสติ ไม่รู้สึกตัว 6. อาการเจ็บหน้าอกรุนแรงจากหลอดเลือดหัวใจตีบตันที่มีความจำเป็นต้องได้รับยาละลายลิ่มเลือด 7. อาการทางสมองจากหลอดเลือดสมองตีบตันทันที มีความจำเป็นต้องได้รับยาละลายลิ่มเลือด8. เลือดออกมากอย่างรวดเร็วและตลอดเวลา เป็นต้น

“ผู้ป่วยฉุกเฉินเร่งด่วน” ได้แก่ บุคคลที่ได้รับบาดเจ็บหรือมีอาการป่วยที่มีภาวะเฉียบพลันมาก หรือเจ็บปวดรุนแรงอันอาจจำเป็นต้องได้รับปฏิบัติการแพทย์อย่างรีบด่วน มิฉะนั้นจะทำให้การบาดเจ็บหรืออาการป่วยของผู้ป่วยฉุกเฉินนั้นรุนแรงขึ้น หรือ เกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นซึ่งส่งผลให้เสียชีวิต หรือพิการในระยะต่อมาได้ หรือกล่าวได้ว่า ฉุกเฉินเร่งด่วนเป็นภาวะที่ต้องการการช่วยเหลือโดยเร็ว รอได้บ้างแต่ไม่นาน เป็นภาวะที่ผู้ป่วยต้องการความช่วยเหลือทางการรักษาพยาบาลจัดเป็นอันดับรองจากกลุ่มแรก ผู้ป่วยประเภทนี้ถ้าปล่อยทิ้งไว้ไม่ให้การดูแลรักษาพยาบาลอย่างถูกต้องก็อาจทำให้สูญเสียชีวิตหรือพิการได้ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง ผู้ป่วยประเภทนี้จะมีอาการ หรืออาการแสดงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง โดยใช้สัญลักษณ์ “สีเหลือง” เช่น 1. หายใจลำบากหรือหายใจเหนื่อยหอบ ชีพจรช้ากว่า 40 หรือเร็วกว่า 150 ครั้ง/นาที โดยเฉพาะถ้าร่วมกับลักษณะทางคลินิกข้ออื่น 3. ไม่รู้สึกตัว ชัก อัมพาต หรือตาบอด หูหนวกทันที 4. ตกเลือด ซีดมากหรือเขียว เจ็บป่วย 5. เจ็บปวดหรือทุรนทุราย 6. มือเท้าเย็นซีด หรือเหงื่อแตก ร่วมกับลักษณะทางคลินิกข้ออื่น 7. ความดันโลหิตตัวบนต่ำกว่า 90 มม.ปรอท หรือตัวล่างสูงกว่า 30 มม.ปรอท โดยเฉพาะร่วมกับลักษณะทางคลินิกข้ออื่น 8. อุณหภูมิร่างกายต่ำกว่า 35 องศาเซลเซียส หรือสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส โดยเฉพาะร่วมกับลักษณะทางคลินิกข้ออื่น 9. ถูกพิษหรือกินยาเกินขนาด 10. ได้รับอุบัติเหตุโดยเฉพาะบาดแผลที่ใหญ่มากหรือมีหลายแห่ง เช่น อาการแตกร้าวขนาดใหญ่ของอวัยวะ อาการบาดเจ็บที่หลังโดยที่มีหรือไม่มีอาการไขสันหลังอักเสบ 11. ภาวะจิตเวชฉุกเฉิน เป็นต้น

ทั้งนี้กรณีผู้ป่วยใน การจ่ายเงินจะจ่ายตามกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม (ดีอาร์จี) ส่วนกรณีผู้ป่วยนอกได้มีการคัดเลือกรายการที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ฉุกเฉินมาทั้งสิ้น 173 รายการ นอกจากนี้ยังมีการจัดทำรายการอุปกรณ์และอวัยวะเทียมอีก 7 รายการ คือ 1. หลอดคอช่วยการหายใจ ชนิดทำด้วยโลหะที่ไม่ขึ้นสนิม 2. เฝือกพยุงคอชนิดอ่อน 3. เฝือกพยุงคอแข็ง 4. เฝือกพยุงระดับเอว 5. สายคล้องแขน 6. อุปกรณ์พยุงข้อมือหรือนิ้ว และ 7. ไม้ค้ำยัน

อย่างไรก็ตามประเด็นที่ยังมีความห่วงใยอยู่ คือ คนไทยกว่า 1 ล้านคน ที่ไม่ได้อยู่ใน 3 กองทุน เช่น บุคลากรในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อบต. อบจ. กรุงเทพมหานคร และรัฐวิสาหกิจ รวมไปถึงคนไทยไร้สัญชาติประมาณ 5 แสนคน หากมีการเจ็บป่วยฉุกเฉินจะทำอย่างไร  ซึ่งแน่นอนว่าโรงพยาบาลก็คงให้การรักษาไปก่อน  แล้วค่อยไปเคลียร์เรื่องเงินกันภายหลัง.


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น